หน้าหลัก ติดต่อเรา
  User Organizer
User Name :
Password :
 
ลืมรหัสผ่าน?
  เมนูหลัก
  ดาวน์โหลดแบบตรวจสอบภายในปี 2561
แบบตรวจทาน
แบบตรวสอบภายใน
ทั้งหมด
เกร็ดความรู้เกร็ดสุขภาพ > การใช้ยาในเด็ก
 

การใช้ยาในเด็ก

รายละเอียดการใช้ยาในการรักษาโรคโดยทั่วไปจะปลอดภัยหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าใช้ยาอย่าง ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากยาแต่ละประเภทมีวิธีและขนาดการใช้งานที่แตกต่างกัน หากใช้ไม่ถูกต้องอาจจะส่งผลร้ายแรงได้ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็กที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ ความอดทนของ ร่างกายต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังกว่าปกติ เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ผลเสียที่เกิดกับเด็กจะร้ายแรงกว่าที่เกิดกับผู้ใหญ่หลายเท่า บทความนี้จะแนะนำข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์โดยเริ่มจากข้อควรพิจารณาเบื้องต้น แนวคิดการให้ยาเด็กพร้อมคำนิยามที่ควรรู้ ข้อควรระวัง ข้อห้ามในยาบางชนิดที่ใช้กันแพร่หลาย อีกทั้งยังแนะนำกลเม็ดการให้ยาแก่เด็กอีกด้วย
ข้อควรพิจารณาเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาในเด็ก ได้แก่
1.ไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เพราะโรคบางโรคที่ไม่รุนแรงสามารถปล่อยให้อาการทุเลาเองได้
2. ควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง โดยพยายามเลือกยาที่คุ้นเคยหรือที่เคยใช้แล้วปลอดภัย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใหม่ๆโดยไม่จำเป็น
3. ควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยาและสังเกตลักษณะของยาว่ามีลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้หรือไม่ เนื่องจากแพทย์หรือเภสัชกรมักเลือกยาประเภทน้ำเชื่อมให้เด็ก ซึ่งยาประเภทดังกล่าวจะหมดอายุเร็วกว่ายาประเภทยาเม็ด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กที่กินยานั้นได้
4. หากเด็กโตพอที่จะกินยาเม็ดได้ ให้เลือกใช้ยาเม็ดดีกว่ายาน้ำ เพราะนอกจากจะราคาถูกกว่าแล้วยังพกพาสะดวกและหมดอายุช้ากว่าด้วย สำหรับยาฉีดควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โดยแพทย์เป็นผู้สั่งให้ฉีดยาและฉีดโดยแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากยาฉีดมีโอกาสแพ้แบบช็อค (Anaphylaxis) อย่างรุนแรงมากกว่ายาชนิดอื่น

เมื่อทราบข้อควรพิจารณาเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่น่าสนใจตามมาก็คือคำถามที่ว่าทำไมการให้ยาในเด็กจึงต้องมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่


เหตุผลหลักที่ทำให้การให้ยาในเด็กแตกต่างจากการให้ยาในผู้ใหญ่
1. การดูดซึมยาเข้าร่างกาย เนื่องจากกระเพาะอาหารของเด็กมีสภาวะความเป็นกรดน้อยกว่าและการบีบตัวมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การดูดซึมยาได้น้อยกว่าผู้ใหญ่
2. การเผาผลาญทำลายยาและการขับถ่ายยา เนื่องจากตับและระบบเอ็มไซม์ต่างๆของเด็ก ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้กระบวนการทำลายยาไม่ดีเท่าผู้ใหญ่
3. น้ำหนักตัว ส่วนสูง และพื้นที่ผิวของร่างกาย เนื่องจากปกติเด็กจะมีน้ำหนักตัว ส่วนสูง และ พื้นที่ผิวของร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การให้ยาในเด็กจึงมีขนาดยาที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ด้วย โดยการคำนวณขนาดยาจากน้ำหนักตัวของเด็กเป็นหลัก เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและมีความแม่นยำสูง

หลายท่านอาจเคยสับสนเมื่ออ่านเอกสารเกี่ยวกับยาของเด็กเช่น เด็กแรกเกิด เด็กอ่อน ทารก เด็กเล็ก หรือเด็กโต เขาแบ่งกันอย่างไร เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจึงควรทราบ คำนิยามที่ควรรู้เหล่านี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับเด็ก ดังนี้
1. เด็กแรกเกิด (New Born) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 4 สัปดาห์
2. เด็กอ่อนหรือทารก (Infant) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 1 ขวบ
3. เด็กเล็ก หมายถึง เด็ก 1 ขวบถึง 6 ขวบ
4. เด็กโต หมายถึง เด็ก 6 ขวบ ถึง 12 ขวบ
สำหรับเด็กอายุ 12 ขวบขึ้นไป สามารถให้ยาได้เหมือนกับผู้ใหญ่

สิ่งที่สำคัญมากที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ยากับเด็กก็คือข้อควรระวังและ ข้อห้ามต่างของยาแต่ละชนิดเพราะหากมองข้ามประเด็นเหล่านี้แล้ว การให้ยาเพื่อรักษาอาจ แปรเปลี่ยนเป็นการซ้ำเติมเด็กให้มีอาการเลวร้ายมากขึ้นและในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิตได้

ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับเด็ก
1. ยาปฏิชีวนะ นิยมทำเป็นรูปผงแห้ง ก่อนผสมน้ำควรเคาะขวดยาให้ผงยากระจายตัวก่อน จึงผสมน้ำสุกต้มที่เย็นแล้วให้ได้ระดับที่กำหนด ยาบางชนิดเมื่อผสมน้ำแล้วต้องเก็บในตู้เย็นและต้องกินยาติดต่อกันจนหมด แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว ยกเว้นกรณีแพ้ยาให้หยุดยาทันทีและรีบไปพบแพทย์
2. ยาลดไข้ ที่นิยมให้เด็กกินก็คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) โดยให้เด็กกินยาทุก 4-6 ชั่วโมงจนไข้ลด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 2 วัน หรือมีไข้สูงมาก ควรไปพบแพทย์ ห้ามเปลี่ยนไปใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เพราะหาก เด็กเป็นไข้เลือดออกจะทำให้เกิดอันตรายได้ และยาพาราเซตามอล ไม่ควรกินยาติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้ ส่วนกรณีจำเป็นเมื่อต้องใช้ยาลดไข้แอสไพริน หรือ ไอบูโปรเฟน ควรให้กินยาหลัง รับประทานอาหารทันที เนื่องจากยานี้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และนอกจากการให้ ยาลดไข้แล้ว ควรเสริมด้วยการเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำ หมาดๆ เช็ดตามข้อพับ ตามซอกต่างๆและลำตัว เพราะจะช่วยระบายความร้อนและลดไข้ได้ดีขึ้น
3. ยาแก้ไอ ไม่ควรนำยาแก้ไอของผู้ใหญ่มาให้เด็กกิน เพราะยาบางชนิดอาจจะผสมแอลกอฮอล์ หรือยาบางตัวอาจมีฤทธิ์กดศูนย์กลางการหายใจ อาจทำให้เด็กหยุดหายใจจนเสียชีวิตได้
4. ยาแก้ท้องเสีย ไม่ควรให้ยาที่มีความแรงมากในเด็กเล็ก เพราะอาจไปกดการหายใจได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการให้น้ำและเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ เพราะอาการขาดน้ำในเด็กอาจทำให้เสียชีวิตได้

ข้อห้ามใช้ของยาสำหรับทารกและเด็กเล็กบางชนิดที่ควรจดจำ
1. แอสไพริน (Aspirin) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
2. คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไม่ควรใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะอาจทำให้ซึม นอนไม่หลับ หรือชักได้
3. คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ห้ามใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน เพราะอาจทำให้เด็กตัวเขียว เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก หรือหมดสติได้
4. โลเปอราไมด์ (Loperamide) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะอาจกดศูนย์การหายใจ
5. ซัลฟานาไมด์ (Sulfanamide) ห้ามใช้ในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะอาจทำให้เกิด ดีซ่านและสมองพิการได้
6. เตตร้าซัยคลิน (Tetracyclin) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ เพราะอาจทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวรและกระดูกเจริญเติบโตไม่ดี
7. เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะยาอาจกดศูนย์กลางการหายใจ

ประเด็นสุดท้ายที่ฝากไว้กับผู้ปกครองที่กำลังจะให้ยาแก่เด็ก คือกลเม็ดเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆ ที่จะทำให้การให้ยาเด็กมีประสิทธิภาพและได้ผลมากยิ่งขึ้น

กลเม็ดเคล็ดลับการให้ยาเด็ก
1. ต้องใจเย็นและมีความอดทน เพราะโดยธรรมชาติของเด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบกินยา ควรพยายามหว่านล้อมและชักจูงเด็กมากกว่าที่จะใช้วิธีบังคับ เพราะยิ่งจะทำให้ให้เด็กกินยา ยากยิ่งขึ้น
2. ไม่ควรบีบจมูกแล้วกรอกยาใส่ปากเด็กและไม่ควรป้อนยาให้เด็กขณะที่เด็กกำลังร้องหรือดิ้น เพราะนอกจากจะทำให้เด็ก สำลักแล้ว ยังส่งผลทางด้านจิตใจต่อเด็กด้วย
3. หากยามีรสชาติไม่ดีหรือมีกลิ่นไม่น่าทาน ควรผสมน้ำเชื่อมเพื่อเพิ่มรสชาติที่ดี ทำให้เด็กกินยาได้ง่ายขึ้น
4. ไม่ควรใส่ยาลงไปในขวดนมเพื่อให้เด็กได้รับยาจากการดูดนม เพราะถ้าเด็กดูดนมไม่หมด จะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นยาบางชนิดอาจทำให้รสชาดของนมเสียไป อาจส่งผลให้เด็กไม่อยากกินนมอีกด้วย
5. ไม่ควรให้ยาพร้อมกับอาหารที่จำเป็นต่อเด็ก เพราะจะทำให้เด็กปฏิเสธอาหารเหล่านั้นในภายหลัง
6. ใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ไม่ควรใช้ช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟที่ใช้ในครัวเพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง และขนาดมาตรฐานในการตวงยาที่ใช้กันอย่าง แพร่หลายคือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร

การให้ยาเด็กแม้จะเป็นเรื่องที่ยากกว่าการให้ยาผู้ใหญ่ แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่จะศึกษา เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ดังนั้นการให้ยาเด็กจึงมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ในหลายประเด็น ไม่ใช่เพียงแต่ขนาดยาที่แตกต่างกันเท่านั้นนอกจากนั้นการให้ยาเด็กควรมีจิตวิทยาพอสมควร เพราะเด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบทานยา อีกทั้งเด็กยังไม่เข้าใจเหตุผลของการกินยา แต่เมื่อถึงเวลาที่เด็กต้องกินยา เราควรหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อทำให้การให้ยาเป็นไปตามที่ควรจะเป็นและถูกต้องตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ

update By Vee 
เมื่อวันที่27 ต.ค.52 09:22 
Copyright © 2009 www.ayph.in.th, All rights reserved.license agreement Version : 1.0