หน้าหลัก ติดต่อเรา
  User Organizer
User Name :
Password :
 
ลืมรหัสผ่าน?
  เมนูหลัก
  ดาวน์โหลดแบบตรวจสอบภายในปี 2561
แบบตรวจทาน
แบบตรวสอบภายใน
ทั้งหมด
เกร็ดความรู้เกร็ดสุขภาพ > ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา
 

ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา

รายละเอียดยาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีคุณสมบัติในการบำบัด รักษา บรรเทาอาการ หรือใช้ป้องกันโรค ซึ่งยาแต่ละชนิดก็มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ยาทา ยาฉีด ยากิน เป็นต้น หากเราใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้โดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ถ้าหากใช้ยาไม่ถูกขนาด อาจทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา หรือ อาจทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ และยังทำให้สุขภาพของผู้ใช้ทรุดโทรมอีกด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา ทั้งในเรื่องของการใช้ยาที่ถูกต้อง รู้จักวิธีการเก็บรักษายาไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว และรู้จักสังเกตว่ายานั้นเสื่อมสภาพหรือยัง ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้
หลักการใช้ยา

ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาของคนไทย ยังมีการใช้ที่ผิด ๆ จะโดยการไม่ระมัดระวัง หรือโดย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เกิดพิษเนื่องจากได้รับยาเกินขนาด หรือเกิดอาการแพ้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย เราจึงควรใช้ยาให้ถูกหลักการใช้ยา ดังนี้
1. ใช้ยาให้ถูกโรค คือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น ซึ่งจะเลือกใช้ยาตัวใดในการรักษานั้น ควรจะให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้จัดให้ เราไม่ควรซื้อยาหรือใช้ยาตามคำบอกเล่าของคนอื่น หรือ หลงเชื่อคำโฆษณา เพราะหากใช้ยาไม่ถูกกับโรคอาจทำให้ได้รับอันตรายจากยานั้นได้ หรือไม่ได้ผลในการรักษา และยังอาจเกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ มีประชาชนส่วนหนึ่งชอบใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือไม่ถูกกับอาการเจ็บป่วย เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่โรคที่เป็นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย ซึ่งทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ในภายหลัง หรือการใช้วิตามินขนาดสูงเป็นประจำด้วยคิดว่าจะบำรุงร่างกาย ให้แข็งแรงโดยไม่ต้องรับประทานอาหารให้ถูกส่วนหรือออกกำลังให้พอเหมาะ
2. ใช้ยาให้ถูกกับคน คือ ต้องดูให้ละเอียดก่อนใช้ว่า ยาชนิดใดใช้กับใคร เพศใด และอายุเท่าใด เพราะอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของคนแต่ละเพศ แต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เช่น เด็กจะมีอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อได้รับยาเด็กจะตอบสนองต่อยาเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก และสตรีมีครรภ์ก็ต้องคำนึงถึงทารกในครรภ์ด้วย เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านจากแม่ไปสู่เด็กได้ทางรก อาจมีผลทำให้เด็กที่คลอดออกมาพิการได้ นอกจากนี้การใช้ยาในสตรีที่ให้นมบุตรต้องระมัดระวังเช่นกันเพราะยาอาจถูกขับทางน้ำนม ทำให้มีผลต่อทารกได้ เช่น ยาสตรีที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ดังกล่าวอาจมีผลต่อทารกที่ดูดนมแม่ได้ การใช้ยาในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้การใช้ยาในผู้สูงอายุก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เพราะการทำลายยาโดยตับและไตของผู้สูงอายุอาจทำได้ช้ากว่าในคนหนุ่มสาว สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไต ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งก่อนที่จะได้รับยา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจ่ายยาให้เหมาะสม
3. ใช้ยาให้ถูกเวลา คือ ช่วงเวลาในการรับประทานยาหรือการนำยาเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น หยอด เหน็บ ทา ฉีด เป็นต้น เพื่อให้ยาในกระแสเลือดมีปริมาณเหมาะสมในการบำบัดรักษา ไม่มากเกินไปจนเกิดพิษและไม่น้อยเกินไปจนไม่สามารถรักษาโรคได้ ซึ่งการใช้ยาให้ถูกเวลาควรปฏิบัติดังนี้
 การรับประทานยาก่อนอาหาร ยาที่กำหนดให้รับประทานก่อนอาหาร ต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ถ้าลืมกินยาในช่วงดังกล่าวก็ให้รับประทานเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ตัวอย่างยาที่จำเป็นต้องรับประทานก่อนอาหาร เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) และเตตร้าซัยคลิน (Tetracycline) เป็นต้น
 การรับประทานยาหลังอาหาร ยาที่กำหนดให้รับประทานหลังอาหาร โดยทั่วไปจะให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15 – 30 นาที
 การรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือพร้อมอาหาร ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่รับประทานอาหารก็ได้ เพราะยาประเภทนี้จะระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารมาก หากรับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง อาจทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลได้ เช่น ยาแอสไพริน(Aspirin) และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)เป็นต้น
การรับประทานยาก่อนนอน ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam)
 การรับประทานยาเมื่อมีอาการ ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ และยาลดไข้ แก้ปวด ตัวอย่างเช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamal)ใช้ลดไข้แก้ปวด ให้รับประทานทุก 4 หรือ 6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ครั้ง การรับประทานยาพาราเซตามอล เกินขนาดจะทำให้เป็นพิษต่อตับได้ และไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
4. ใช้ยาให้ถูกขนาด คือการใช้ยารักษาโรคจะต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป ควรรับประทานให้ถูกขนาดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ จึงจะให้ผลดีในการรักษา เช่น ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก็ควรรับประทานตามนี้ ไม่ควรรับประทาน 2 เม็ด หรือเพิ่มเป็นวันละ 4-5 ครั้ง เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาในแต่ละคนก็แตกต่างกันโดยเฉพาะเด็ก จะมีขนาดการใช้ที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ให้ใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ในทารกต้องใช้ยาปริมาณน้อยๆ มักเป็นยาน้ำที่ใช้หลอดหยดที่ให้มาพร้อมกับยา โดยจะต้องอ่านขนาดการใช้ยาที่ระบุบนฉลากให้ถี่ถ้วน หากเป็นเด็กเล็กให้ใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ไม่ใช้ช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้องสำหรับขนาดมาตรฐานในการตวงยาคือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร
5. ใช้ยาให้ถูกวิธี เนื่องจากการจะนำยาเข้าสู่ร่างกายมีหลายวิธี เช่น การกิน การฉีด การทา การหยอด การเหน็บ เป็นต้น ซึ่งการจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของตัวยานั้นๆ ดังนั้นก่อนใช้ยาจึงจำเป็นต้องอ่านฉลากและศึกษาวิธีการใช้ให้ละเอียดทุกครั้ง เพื่อที่จะได้ใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
5.1 การใช้ยาที่ใช้ภายนอก ยาที่ใช้ภายนอกได้แก่ ขี้ผึ้ง ครีม ยาผง ยาเหน็บ ยาหยอด มีข้อดีคือยาจะมีผลเฉพาะบริเวณที่ให้ยาเท่านั้นและมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงไม่ค่อยมีผลอื่นต่อระบบในร่างกาย ข้อเสียคือ ใช้ได้ดีกับโรคที่เกิดบริเวณพื้นผิวร่างกายเท่านั้น และฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นาน โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
 ยาใช้ทา ให้ทาเพียงบาง ๆ เฉพาะบริเวณที่เป็นโรค หรือบริเวณที่มีอาการ ระวังอย่าให้ยาถูกน้ำล้างออกหรือถูกเสื้อผ้าเช็ดออก
 ยาใช้ถูนวด ก็ให้ทาและถูบริเวณที่มีอาการเบา ๆ
 ยาใช้โรย ก่อนที่จะโรยยาควรทำความสะอาดแผล และเช็ดบริเวณที่จะโรยให้แห้งเสียก่อน ไม่ควรโรยยาที่แผลสด หรือแผลมีน้ำเหลือง เพราะผงยาจะเกาะกันแข็งและปิดแผล อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคภายในแผลได้
 ยาใช้หยอด จะมีทั้งยาหยอดตา หยอดหู หยอดจมูกหรือพ่นจมูก
- ยาหยอดตา มีวิธีปฏิบัติดังนี้ ล้างมือให้สะอาด ดึงเปลือกตาล่างออกให้เป็นกระเปาะโดยนอนหรือเอนศีรษะไปด้านหลัง มองขึ้นเพดาน แล้วหยอดยาลงในเปลือกตาล่างตามจำนวนที่กำหนดไว้ในฉลาก ระวังไม่ให้หลอดยาหยอดตาสัมผัสกับตาหรือปลายนิ้วมือ ปล่อยเปลือกตาล่าง พยายามอย่าปิดตา และกระพริบตาอย่างน้อย 30 วินาที แล้วกดที่หัวตาทั้ง 2 ข้างเบาๆ 1 นาที เพื่อป้องกันการไหลของยาจากบริเวณที่ต้องการ กรณีหยอดยาทั้ง 2 ข้าง ควรหยอดตาข้างหนึ่งและเว้นอย่างน้อย 5 นาที แล้วจึงหยอดตาอีกข้างหนึ่ง ถ้าหากต้องหยอดยาตา 2 ชนิดขึ้นไปในคราวเดียวกัน ควรทิ้งระยะห่างประมาณ10 นาที จึงหยอดยาชนิดต่อไป ยาหยอดตาเมื่อเปิดใช้แล้วให้เก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องน้ำแข็ง ยกเว้นยาหยอดตาบางชนิดเช่นยาหยอดตาซัลฟาเซตาไมด์ (Sulfacetamide) จะห้ามเก็บในตู้เย็น ยาหยอดตาเมื่อเปิดใช้แล้วจะเสื่อมคุณภาพไปตามวันเวลา จะมีฤทธิ์เต็มที่ภายใน 1 เดือนหลังจากที่เปิดใช้ครั้งแรกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาหยอดตาหลังเปิดใช้แล้ว 1 เดือน แม้ว่ายาจะยังไม่หมดอายุตามที่ระบุไว้บนฉลากก็ตาม นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจติดโรคกันได้
- ยาหยอดจมูก ถ้ามีน้ำมูกให้สั่งออกอย่างเบาๆ นั่งเงยหน้า หรือนอนหงายบนเตียง ใช้หมอนหนุนคอให้หงายหน้าออกเล็กน้อย สอดหลอดสำหรับหยดยา เข้าไปในส่วนบนของรูจมูกเล็กน้อย ให้แตะชิดผนังด้านในข้างสันจมูก แล้วค่อยๆหยดยา ประมาณ 1-2 หยด ยกศีรษะให้ตรง ใช้นิ้วคลึงเบาๆที่จมูกเพื่อให้ยาแพร่กระจายทั่วถึง สำหรับยาพ่นจมูกก็มีวิธีคล้ายกัน แต่เมื่อสอดปลายท่อสำหรับพ่นยาเข้าในรูจมูก ให้ใช้นิ้วปิดรูจมูกอีกข้างไว้ จากนั้นปิดปาก หายใจเข้าแล้วกดยาพ่นเข้าไปในรูจมูก กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ แล้วหายใจตามปกติ ห้ามใช้ร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจติดเชื้อกันได้ และในยาหยอดจมูกบางชนิดไม่ควรนำมาหยอดจมูกหรือพ่นจมูกนานเกิน 3 วัน - ยาหยอดหู วิธีใช้ให้ล้างมือให้สะอาด เขย่าขวดก่อนใช้ แล้วนอนหรือนั่งตะแคง เพื่อให้หูข้างที่จะหยอดยาหันขึ้นด้านบน หยอดยาลงในรูหูตามจำนวนหยดที่ระบุในฉลากยา หรือตามที่แพทย์สั่ง ระวังอย่าให้ปลายหลอดแตะถูกหู แล้วนอนหรือนั่งอยู่ในท่าเดิมประมาณ 5 นาที ถ้ายาไหลออกจากหู ให้ใช้สำลีซับ ถ้ากรณีที่หูมีน้ำหนวก ก่อนใช้ยาหยอดหู ควรใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดน้ำหนวกออกอย่างเบาๆ เมื่อเปิดใช้ยาหยอดหูแล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน ห้ามใช้ยาหยอดหูร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจติดเชื้อกันได้
 ยาใช้เหน็บ ยาที่ใช้เหน็บทวารหนัก หรือช่องคลอดมักเป็นแท่งคล้ายขี้ผึ้ง ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง เวลาใช้ให้แกะที่หุ้มออกแล้วจุ่มน้ำพอลื่นก่อนสอด ควรสอดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้
 ยาใช้ป้าย ยาที่ใช้สำหรับป้าย ถ้าเป็นขี้ผึ้งป้ายตา เมื่อป้ายแล้วให้ปิดเปลือกตาลง ใช้นิ้วสะอาดคลึงหนังตาเบา ๆ ถ้าเป็นยาป้ายลิ้น ให้ใช้สำลีชุบยาเช็ดบริเวณที่ต้องการ

5.2 การใช้ยาที่ใช้ภายใน ยาที่ใช้ภายในคือยาที่ใช้รับประทาน ได้แก่ ยาเม็ดยาผง ยาน้ำ การให้ยาโดยการรับประทานมีข้อดี คือ สะดวก ปลอดภัย และใช้ได้กับยาส่วนใหญ่ แต่มีข้อเสียคือ ยาจะต้องผ่านทางเดินอาหาร และดูดซึมผ่านผนังกระเพาะ และลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด จึงออกฤทธิ์ได้ช้าและปริมาณยาที่เข้าสู่กระแสเลือดอาจแตกต่างกันตามสภาพการดูดซึม โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
 ยาเม็ดที่ให้เคี้ยวก่อนรับประทาน ได้แก่ ยาลดกรดและยาขับลมชนิดเม็ด ทั้งนี้เพื่อให้เม็ดยาแตกเป็นชิ้นเล็ก จะได้มีผิวสัมผัสกับกรดหรือฟองอากาศในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น ยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย ได้แก่ ยาชนิดที่เคลือบน้ำตาล และชนิดที่เคลือบฟิล์มบางๆ จับดูจะรู้สึกลื่น ยาดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน ต้องการให้ยาเม็ดค่อยๆละลายทีละน้อย
 ยาแคปซูล เป็นยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย มีทั้งชนิดอ่อน และชนิดแข็ง ซึ่งชนิดแข็งจะประกอบด้วยปลอก 2 ข้างสวมกัน ยาแคปซูลมีข้อดีคือรับประทานง่าย เพราะกลบรสและกลิ่นของยาได้ดี
 ยาผง มีอยู่หลายชนิด และใช้แตกต่างกัน เช่น ตวงใส่ช้อนรับประทานแล้วดื่มน้ำตาม หรือชนิดตวงมาละลายน้ำก่อน และยาผงที่ต้องละลายน้ำในขวดให้ได้ปริมาตรที่กำหนดไว้ก่อนที่จะใช้รับประทาน เช่นยาปฏิชีวนะชนิดผงสำหรับเด็ก โดยน้ำที่นำมาผสมต้องเป็นน้ำดื่มที่ต้มสุกและทิ้งให้เย็น ต้องเก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็งและหากใช้ไม่หมดใน 7 วันหลังจากที่ผสมน้ำแล้วให้ทิ้งเสีย
 ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) เช่น ยาลดกรดต้องเขย่าขวดให้ผงยาที่ตกตะกอนกระจายเป็นเนื้อเดียวกันจึงรินยารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วตะกอนยังไม่กระจายตัวแสดงว่า ยานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
 ยาน้ำใส เช่น ยาน้ำเชื่อม ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ถ้าเกิดผลึกขึ้น หรือเขย่าแล้ว ไม่ละลาย ไม่ควรนำมารับประทาน
 ยาน้ำแขวนละออง (Emulsion) เช่น น้ำมันตับปลา ยาอาจจะแยกออกให้เห็นเป็นของเหลว 2 ชั้น เวลาจะใช้ให้เขย่าจนของเหลวเป็นชั้นเดียวกันก่อน จึงรินมารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วยาไม่รวมตัวกันแสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว

การเก็บรักษายา

เมื่อเราทราบถึงวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องแล้ว ก็ควรรู้ถึงวิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้องด้วย เพื่อให้ยามีคุณภาพในการรักษา ไม่เสื่อมคุณภาพเร็ว โดยมีวิธีการเก็บรักษา ดังนี้
1. ตู้ยาควรตั้งอยู่ในที่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง ห่างจากแหล่งความร้อน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ มีฝาตู้ปิดกันฝุ่นละออง ป้องกันแมลง และควรตั้งให้พ้นจากมือเด็ก โดยอยู่ในระดับที่เด็กไม่สามารถหยิบถึง เพราะยาบางชนิดมีสีสวย เช่นยาบำรุงเลือดที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบซึ่งมีลักษณะเป็นยาเม็ดเคลือบน้ำตาลสีแดง ซึ่งเด็กอาจนึกว่าเป็นขนม แล้วนำมารับประทานจะก่อให้เกิดอันตรายได้
2. ไม่ตั้งตู้ยาในที่ชื้น ควรตั้งอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ควรเก็บยาให้ห่างจาก ห้องครัว ห้องน้ำ และต้นไม้
3. ควรจัดตู้ยาให้เป็นระเบียบ โดยแยก ยาใช้ภายนอก ยาใช้ภายใน และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยิบยาผิด โดยยาแต่ละชนิดก่อนเก็บต้องมีฉลากติดเรียบร้อย สามารถอ่านได้ชัดเจน
 ยาใช้ภายใน ให้ใส่ขวดสีชามีฝาปิดสนิท เขียนฉลากว่า “ยารับประทาน” โดยใช้ฉลากสีน้ำเงิน หรือตัวอักษรสีน้ำเงิน หรือสีดำ พร้อมกับระบุชื่อยา สรรพคุณ ขนาด และวิธีรับประทาน ติดไว้ให้เรียบร้อย ถ้าเป็นยาน้ำแขวนตะกอน ที่ฉลากจะต้องมี คำว่า “เขย่าขวดก่อนใช้ยา”
 ยาใช้ภายนอก ให้ติดฉลากสีแดง มีข้อความว่า “ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน” ในฉลากต้องระบุชื่อยา สรรพคุณ ขนาดและวิธีใช้ให้เรียบร้อย
4. เก็บรักษายาไม่ให้ถูกแสงสว่าง เพราะยาบางชนิดหากถูกแสงแดดจะเสื่อมคุณภาพ จึงต้องเก็บในขวดทึบแสง มักเป็นขวดสีชา เช่น ยาหยอดตา ยาวิตามิน ยาปฏิชีวนะ และยาแอดรีนาลิน ที่สำคัญควรเก็บยาตามที่ฉลากกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด แต่ถ้าฉลากไม่ได้ระบุไว้ก็เป็นที่เข้าใจว่าให้เก็บในที่ซึ่งป้องกันความชื้นได้ดี ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินไป หรือไม่นำยาไปแช่แข็ง การเก็บรักษายาที่ถูกต้อง ย่อมได้ยาที่มีประสิทธิภาพ และยาก็ไม่เสื่อมคุณภาพเร็ว ซึ่งจะให้ผลในการรักษาเต็มที่

วิธีสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ

ยาเสื่อมคุณภาพ เป็นยาที่เปลี่ยนสภาพไป ไม่ให้ผลในการรักษาหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ การเปลี่ยนสภาพของยาอาจเปลี่ยนจากลักษณะภายนอก ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัด หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของตัวยา ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การเสื่อมสภาพของยาที่เราพบกันบ่อย ๆ เช่น
 ยาน้ำ จะมีการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือมีตะกอนผิดไปจากเดิม รายละเอียดดังที่กล่าวมาแล้ว
 ยาหยอดตา จะมีลักษณะขุ่น หรือตกตะกอนของตัวยา เปลี่ยนสี
 ยาเม็ด จะมีลักษณะเยิ้ม เม็ดแตก ชื้น บิ่น เปลี่ยนสี
 ยาแคปซูล จะมีลักษณะแตกออกจากกัน บวม ชื้น หรือสีของยาที่อยู่ภายในแคปซูลเปลี่ยนไป หรือมีสีเข้มขึ้น
 ยาขี้ผึ้ง ยาครีม จะมีลักษณะเนื้อยาเยิ้มเหลว แยกชั้น กลิ่น สีเปลี่ยนไปจากเดิม
ทั้งนี้ควรตรวจดูยาอย่างน้อยปีละครั้งว่าหมดอายุหรือเสื่อมสภาพหรือไม่ หากพบยามีลักษณะตามที่กล่าวข้างต้น แม้ยาจะยังไม่ถึงกำหนดวันหมดอายุก็ไม่ควรรับประทานเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการไม่ทุเลาและเป็นอันตรายได้

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการใช้ยาให้ถูกต้องนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่อ่านฉลากและเอกสารกำกับยาให้เข้าใจ และใช้ตามหลักการใช้ยาคือ ถูกกับโรคที่เป็น ถูกวิธี ถูกเวลา และถูกขนาด การใช้ยานั้นก็จะไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ นอกจากการใช้ยาให้ถูกต้องแล้ว การเก็บรักษายาก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน คือต้องเก็บยาให้ถูกที่ ไม่ถูกแสงแดด และไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินไป ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ยาที่ดีมีคุณภาพให้ผลเต็มที่ในการรักษาโรค

สำหรับการเลือกซื้อยาก็สำคัญ ไม่ควรซื้อยาตามคำชักชวนหรือโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล การซื้อยาชุด ยาที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา หรือซื้อยาจากสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้านขายของชำ รถเร่ขายยา แผงข้างทาง หรือตามวัดต่างๆ ควรซื้อยาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความมั่นใจมากยิ่งขึ้นอาจเลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่ติดป้าย “ร้านยาคุณภาพ” ซึ่งเป็นร้านขายยาที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรม จึงมีมาตรฐานการให้บริการที่ดี คัดสรรจำหน่ายเฉพาะยาที่มีคุณภาพ ซึ่งผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานการผลิตที่ดี มีการตรวจคุณภาพและการเก็บรักษายาภายใต้การดูแลของเภสัชกรประจำที่อยู่ตลอดเวลาที่เปิดร้าน ซึ่งจะใส่ใจซักถามอาการป่วยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและแนะนำยารวมทั้งวิธีดูแลตนเองที่เหมาะสมให้แก่ผู้ใช้ยา ทำให้สามารถใช้ยารักษาตนเองได้อย่างถูกต้อง คุ้มค่า และปลอดภัยต่อสุขภาพ ตลอดจนแนะนำส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสมในกรณีที่ต้องพบแพทย์ หรือมีอาการรุนแรง เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวข้างต้นการใช้ยาอย่างปลอดภัยก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป




บรรณานุกรม

สภาเภสัชกรรม . มาตรฐานร้านยา . [ออนไลน์] . เข้าถึงได้จาก : http://www.pharmacycouncil.org/html/htmlexpand/drug_store04.html . 2549 .
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา . กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค . เอกสารเผยแพร่ เรื่อง “ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา.” (โรเนียว) , 2547 .
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา . กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค . เอกสารเผยแพร่ เรื่อง “แนวทางการใช้ยารักษาตนเอง(ตอนที่ 2) .” (โรเนียว) , 2545 .
สุรชัย อัญเชิญ . การใช้ยาอย่างปลอดภัย . [ออนไลน์] . เข้าถึงได้จาก : http://www.pharm.chula.ac.th/surachai/academic/cns-drgs/radio06.htm . 2549 .
update By Vee 
เมื่อวันที่27 ต.ค.52 08:58 
Copyright © 2009 www.ayph.in.th, All rights reserved.license agreement Version : 1.0