หน้าหลัก ติดต่อเรา
  User Organizer
User Name :
Password :
 
ลืมรหัสผ่าน?
  เมนูหลัก
  ดาวน์โหลดแบบตรวจสอบภายในปี 2561
แบบตรวจทาน
แบบตรวสอบภายใน
ทั้งหมด
เกร็ดความรู้เกร็ดสุขภาพ > การขจัดสารพิษในผักและผลไม้
 

การขจัดสารพิษในผักและผลไม้

รายละเอียดผักและผลไม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อุดมด้วยวิตามิน และเกลือแร่ นอกจากนี้ยังให้เส้นใยอาหาร ผู้บริโภคผักผลไม้เป็นประจำ จะมีร่างกายแข็งแรง ระบบย่อยอาหารและระบบ ขับถ่ายดี ปัจจุบันนี้ผักและผลไม้ปลอดสารเคมีเป็นที่นิยมในการบริโภคมากแถมยังขายได้ราคาดี จึงมีการผลิตกันออกมาขายแข่งกันมาก ที่จริงก็น่าจะดีเพราะผู้บริโภคมีโอกาสเลือกมากขึ้น แต่ที่ระบุว่า “ปลอดสารเคมี” นั้นปลอดภัยจริงหรือ ถึงแม้จะปลอดสารเคมี แต่เชื้อโรคและพยาธิก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้อยู่ดี การมาทำความรู้จักถึงพิษภัยที่แฝงมากับผักและผลไม้ และวิธีการที่จะกำจัดเอาพิษภัยนั้นออกไป น่าจะเป็นวิธีป้องกันตัวเราได้ดีที่สุด
อันตรายจากผักผลไม้มี 3 ประเภท ได้แก่
1. อันตรายจากพยาธิและเชื้อโรค
2. อันตรายจากสารฟอกขาว
3. อันตรายจากสารพิษตกค้าง

1. อันตรายจากพยาธิและเชื้อโรค

เพื่อลดต้นทุนในการผลิต เกษตรกรบางรายได้นำเอาอุจจาระคนหรือมูลสัตว์สดมาใช้เป็นปุ๋ยรดผักตามแหล่งเพาะปลูกต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการปนเปื้อนของไข่พยาธิ ตัวอ่อนพยาธิ และเชื้อโรคของระบบทางเดินอาหารชนิดต่างๆในผักสด โดยทั่วไปผักที่พบไข่พยาธิ ตัวอ่อนพยาธิหรือเชื้อโรคได้มาก มักเป็นผักชนิดที่ใบไม่เรียบ และซ้อนกันมากๆ เช่น ผักกาดขาว สะระแหน่ ผักชี ต้นหอม และ กะหล่ำปลี เป็นต้น ซึ่งเป็นผักสดที่คนไทยนิยมบริโภคสดๆ ทำให้มีโอกาสได้รับไข่พยาธิ หรือเชื้อโรค เข้าไปได้มาก ทำให้เป็นโรคพยาธิได้เช่น โรคพยาธิตืดหมู โรคพยาธิแส้ม้า โรคพยาธิไส้เดือน เป็นต้น หรือโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคบิด โรคอหิวาตกโรค และโรคไทฟอยด์ เป็นต้น
2. อันตรายจากสารฟอกขาว(โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์)
โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodium Hydrosulfite) หรือที่รู้จักดีในชื่อ “ผงซักมุ้ง” เป็นสารฟอกขาวชนิดหนึ่ง สารนี้มีการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเส้นใยไหม แห และอวน แต่พบว่ามีพ่อค้าแม่ค้านำไปแช่ผักและผลไม้บางชนิด เช่น ถั่วงอก หน่อไม้ไผ่ตง ขิงหั่นฝอย และ กระท้อน เป็นต้น บางครั้งยังใส่ในอาหารอื่น เช่น น้ำมันมะพร้าว หน่อไม้ดอง น้ำตาลมะพร้าว และทุเรียนกวนฯลฯ ถ้าได้รับสารนี้โดยการบริโภค จะทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะที่สัมผัสกับอาหาร เช่นปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร เกิดการปวดท้อง อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แพ้อย่างรุนแรงหรือผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอาการช็อกหมดสติและเสียชีวิต ตามกฎหมายกระทรวงสาธารณสุขจึงไม่อนุญาตให้ใช้โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ในอาหารไม่ว่าจะปริมาณเท่าใดก็ตาม ทั้งนี้สามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารนี้ได้ ด้วยการเลือกอาหารที่สะอาดและมีสีใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่ขาวจนผิดปกติ
3. อันตรายจากสารตกค้าง

ปัจจุบันนี้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกันอย่างแพร่หลาย และในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น โดยที่เกษตรกรผู้ใช้ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี ซึ่งการใช้สารเคมีร่วมกันหลายชนิด หรือเมื่อใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้วกลับเก็บผลผลิตก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ยังสลายตัวไม่หมดเกิดการตกค้างในผักสด เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้งเป็นเวลานาน จะสะสมเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลจนกลายเป็นเซลมะเร็งลุกลามไปยังส่วนต่างๆของร่างกายได้ เช่น มะเร็งของตับและมะเร็งของลำไส้ เป็นต้น
สำหรับพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เกิดพิษต่อร่างกายนั้น สามารถแบ่งตามลักษณะการเกิดพิษได้เป็น 2 ชนิดคือ
1.สารที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ ดีดีที เอ็นดริน ดีลดริน ออลดริน คลอร์เดน และเฮพตาคลอร์ เป็นต้น สารเหล่านี้จะทำลายสมดุลของธาตุสำคัญในเซลประสาท ทำให้การทำงานผิดปกติ มีอาการชาของใบหน้า ลิ้น และ ริมฝีปาก มีอาการมึนงง ชักกระตุก และสั่น


2.สารที่มีผลต่อเอนไซม์ของระบบประสาท ได้แก่มาลาไธออน พาราไธออน ไดคลอร์วอส ไดเมทโธเอท ไดอะซีนอน คาร์บาริล และคาร์โบฟูราน สารเหล่านี้ถ้าได้รับ ในปริมาณมาก จะทำให้ปริมาณเอนไซม์ของระบบประสาทที่ชื่อ”โคลินเอสเตอเรส” ในร่างกายลดลง ทำให้มีอาการทางประสาท ปวดศีรษะ ง่วง สับสน ฝันร้าย ตื่นเต้นตกใจ ง่าย มองไม่ชัด อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เป็นตะคริว ชัก ท้องร่วง เหงื่อออก รูม่านตาหรี่เล็ก น้ำตาและ น้ำลายไหล อาเจียน กล้ามเนื้อสั่นกระตุก
สำหรับผักสดที่พบว่ามีพิษตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบ่อยเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว และคะน้า แต่ชนิดของผักที่พบอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป

วิธีหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษตกค้างในผักผลไม้

1.หลีกเลี่ยงการรับประทานผักและผลไม้ที่อยู่นอกฤดูกาล
การกินผักนอกฤดูกาล ผู้ปลูกมักใส่ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก โอกาสที่เราจะได้รับสารเคมีจากผักหรือผลไม้นั้นก็ยิ่งมากตามไปด้วย หากต้องการหลีกเลี่ยงสารพิษ สามารถทำได้โดยการรับประทานผักตามฤดูกาล ซึ่งพืชจะแข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลงมากกว่าเมื่อนำมาปลูกนอกฤดู สำหรับผักนั้นสามารถเลือกรับประทานตามฤดูกาลได้ตามตารางข้างท้าย


ตารางแสดงฤดูกาลและผักที่ควรรับประทาน


ฤดูกาล ชนิดของผักที่ควรรับประทาน
กุมภาพันธ์-พฤษภาคม
(ฤดูร้อน) คะน้า กวางตุ้ง แตงกวา บวบ ผักกาดหอม ชะอม ผักบุ้ง ดอกแค
มิถุนายน-กันยายน
(ฤดูฝน) คะน้า กวางตุ้ง แตงกวา บวบ ผักกาดหอม ชะอม ผักบุ้ง ตำลึง หน่อไม้
ถั่วฝักยาว มะระ ต้นหอม ผักชี
ธันวาคม-มกราคม
(ฤดูหนาว) ฟักทอง ฟักแฟง กะหล่ำปลี แครอท ผักกาดขาว หัวไชเท้า สลัดแก้ว
ผักกาดฮ่องเต้ ถั่วแขก ถั่วพู กะหล่ำดอก บร็อคโคลี ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง มะเขือเทศ
ถั่วลันเตา หอมหัวใหญ่ กระเทียม พริกชี้ฟ้า พริกหวาน

2. เลือกซื้อผักที่ปลอดภัยจากสารพิษหรือผักเกษตรอินทรีย์
ถ้าเป็นไปได้อาจเลือกซื้อผักที่ปลอดภัยจากสารพิษที่มีการรับรองจากทางราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร หรือกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งแม้จะใช้สารเคมีแต่มีการควบคุมให้อยู่ในระดับ มาตรฐาน หรือเลือกซื้อผักเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งจะจัดแผนกสำหรับสินค้าดังกล่าวโดยเฉพาะ สำหรับการเลือกผักที่มีรอยจากการทำลายของแมลง เช่น มีรูที่ใบ ก็ยังพอใช้ได้อยู่บ้าง แต่ในบางครั้งเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอาจฉีดพ่นสารเคมีหลังจากที่ผักถูกทำลายด้วยศัตรูพืชไปแล้ว เราจึงไม่ควรดูแค่ลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใส่ใจถึงแหล่งที่ซื้อ การเตรียมก่อนนำไปปรุงและรับประทานด้วย
3. ล้างให้สะอาดก่อนนำไปรับประทาน
การล้างก่อนรับประทานจะช่วยลดพิษตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในผักและผลไม้ลงได้มาก ในกรณีที่ไม่รับประทานผักและผลไม้ในวันที่ซื้อ ก็ควรล้างเสียก่อนที่จะนำไปเก็บในตู้เย็น แม้แต่ผักปลอดสารพิษ ก็ควรต้องล้างก่อน วิธีการล้างทำได้ง่ายๆ โดย

วิธีการลดพิษตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปริมาณสารพิษที่ลดลง
1. ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต(ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20ลิตร) แช่นาน 15 นาที แล้วนำไปล้างน้ำ อีกหลายๆครั้ง 90-95%
2. ใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5 % ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:10 เพื่อให้เหลือความเข้มข้น 0.5 %( เช่น ถ้าใช้น้ำส้มสายชู 1 ถ้วยตวง ให้เติมน้ำอีก 10 ถ้วยตวง เป็นต้น) แช่นาน 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด 60-84%
3. ล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน โดยเด็ดผักเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่ง
เปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก ล้างนาน 2 นาที 25-63%
4. ลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกของผักออกทิ้ง เด็ดผักเป็นใบๆ แล้วแช่น้ำสะอาดนาน 5-15 นาที 27-72%
5. ต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน 48-50%
6. ใช้ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ 1 ช้อนชาผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที
แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด 35-50%
7. ใช้ด่างทับทิม 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด 35-43%
8. แช่น้ำซาวข้าว นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด 29-38%
9. ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด 27-38%
นอกจากนี้สามารถใช้ผงปูนคลอรีนครึ่งช้อนชาละลายน้ำ 20 ลิตร นำมาแช่ผักนาน 15-30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคและพยาธิได้อีกด้วย

4. หันไปกินผักพื้นบ้าน
ผักพื้นบ้านของไทยมีอยู่มากมาย แต่ละชนิดล้วนมีรสชาติอร่อย คุณค่าทางโภชนาการสูง และมีสรรพคุณทางยาช่วยป้องกันโรค ผักพื้นบ้านเป็นผักที่แข็งแรง ปลูกง่าย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน การบริโภคผักพื้นบ้านจึงลดการเสี่ยงต่อสารเคมีไปได้มาก ผักพื้นบ้าน เช่น กระเจี๊ยบ กระชาย กะเพรา ชะพลู ชะอม ตะไคร้ ตำลึง แตงโมอ่อน น้ำเต้า ใบย่านาง ใบเล็บครุฑ ผักแต้ว ผักปลัง ผักแว่น ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า ผักกูด ใบแมงลัก สะตอ สะระแหน่ มะเขือพวง โหระพา มะเขือยาว เป็นต้น
5. ระมัดระวังการใช้สารเคมีในบริเวณที่เก็บผักและผลไม้
ควรระมัดระวังการเก็บหรือใช้สารป้องกันและกำจัดแมลง หรือสารเคมีต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ที่ใช้ในการเตรียม/ปรุงหรือเก็บผักและผลไม้ เพราะอาจปนเปื้อนเข้าสู่ผักและผลไม้ได้

6. การปลูกผักกินเอง
มีวิธีการมากมายที่จะปลูกผักกินเอง แม้แต่คนที่อยู่ในเมืองหรือมีพื้นที่จำกัด เช่นปลูกผักในกระถาง ปลูกผักลอยฟ้า ปลูกผักริมรั้ว และปลูกผักสวนครัว เป็นต้น





บรรณานุกรม

กรมวิชาการเกษตร . โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรด้านการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช แบบผสมผสานในพื้นที่ที่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก . วันนี้ลูก ของคุณกินยาพิษหรือเปล่า . กรุงเทพมหานคร : ( ม.ป.ท.) , 2546 .
กรมวิชาการเกษตร. กลุ่มงานวิจัยสารพิษตกค้าง . การลดสารพิษในผลิตผลการเกษตร . (ออนไลน์) . เข้าถึง
ได้จาก :http://plantpro.doae.go.th/plantclinic/clinic/other/decrease/poison_decrease.pdf . 2549 .
กรมส่งเสริมการเกษตร . แนะการบริโภคผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ . (ออนไลน์) . เข้าถึงได้จาก : http://news.cedis.or.th/detail.php?id=213&lang=en&group_id=1 . 2549 .
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา . กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค. เอกสารเผยแพร่ เรื่อง “การขจัดสารพิษในผักผลไม้” (โรเนียว) , 2544 . update By Vee 
เมื่อวันที่27 ต.ค.52 08:56 
Copyright © 2009 www.ayph.in.th, All rights reserved.license agreement Version : 1.0