ปลัดสธ.กำชับทุกจังหวัดเข้มการควบคุมป้องกันโรคมือเท้าปาก หากพบเด็กป่วย มีไข้สูง ซึม อาเจียน ให้นอนโรงพยาบาลทุกราย


               ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประชุมผู้บริหารระดับสูงทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้คุมเข้มโรคมือเท้าปากในช่วงนี้เป็นพิเศษ  พบเด็กป่วยมือเท้าปากหรือมีไข้สูง ซึม อาเจียน ให้รับรักษาตัวในโรงพยาบาลทุกราย ห้ามใช้เพนนิโซโลนรักษาอย่างเด็ดขาด และให้ตรวจสอบความพร้อมโรงพยาบาล ให้พร้อมบริการเก็บค่าบริการร่วมจ่าย 30บาท ในกลุ่มที่อยู่นอกเหนือสิทธิที่ได้รับการยกเว้น ที่จะเริ่ม  1 กันยายนนี้


 


                 วันนี้ (24 กรกฎาคม 2555) ที่โรงแรมริชมอนด์ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อชี้แจงนโยบายที่สำคัญและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายในไตรมาสที่  4  ของปีงบประมาณ 2555 ว่า การประชุมวันนี้เน้นนโยบายเร่งด่วน  เรื่องหลัก ได้แก่ นโยบายการร่วมจ่าย  30 บาท ในกลุ่มที่อยู่นอกเหนือสิทธิที่ได้รับการยกเว้น ซึ่งจะเริ่มในวันที่  1 กันยายน  2555 ในวันนี้เป็นการชี้แจงหลักเกณฑ์ในการดำเนินการซึ่งจะดำเนินการเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้บริการในโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป  ซึ่งจะร่วมจ่ายเฉพาะกรณีที่มีการรับยาเท่านั้น  โดยได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกระดับ เปิดบริการผู้ป่วยนอกตลอดวันทำการ  ส่วนกลุ่มที่ได้รับสิทธิยกเว้นจ่ายค่าธรรมเนียมเดิม เช่น พระภิกษุ  เด็กอายุต่ำกว่า  12 ปี ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้พิการ ทหารผ่านศึก ยังคงได้รับการยกเว้นจ่าย 30บาทคงเดิม ทั้งนี้ได้ให้ผู้บริหารทุกจังหวัด ตรวจสอบความพร้อมสถานบริการในพื้นที่ทั้งหมด และให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตติดตามกำกับ 


             

สำหรับเรื่องมือเท้าปาก ในวันนี้จะเป็นการแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ และแนวทางของการควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย เบื้องต้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลงแต่จะไม่ประมาท ได้กำชับให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ป่วยมือเท้าปากเกิน 10รายต่อวัน ให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการดูแลเป็นพิเศษ พร้อมกันนี้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งดูแลรักษาเพื่อป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้มีน้อยที่สุด หากพบผู้ป่วยที่มาด้วยอาการของโรคมือเท้าปาก หรือไม่มีอาการมือเท้าปากแต่มีไข้ ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลทันที และห้ามใช้ยาเพนนิโซโลนรักษาอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้  

    

               กระทรวงสาธารณสุขได้ทำแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เน้นการป้องกันควบคุมโรคในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา และสถานที่ชุมชน และส่งรายงานความคืบหน้าทุกสัปดาห์  ในส่วนของโรงพยาบาล ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป จนถึงโรงพยาบาลศูนย์ ทั้งรัฐและเอกชนให้เตรียมบุคลากร สถานที่ และเครื่องมือแพทย์ให้พร้อม ปฏิบัติตามแนวการรักษาของกรมการแพทย์ และเตรียมรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ที่อาจส่งต่อมาจากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพน้อยกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรพ.สต.ให้เน้นการป้องกันโรคในชุมชน กระตุ้นให้ประชาชนดูแลสุขภาพ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หากพบเด็กมีไข้เกิน   2 วัน ซึม ให้ส่งโรงพยาบาลชุมชนทันที และขอความร่วมมือจาก อสม.ทั่วประเทศ ออกให้คำแนะนำประชาชนในพื้นที่ ทั้งที่มีและไม่มีผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก  ช่วยโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กคัดกรองเด็ก หากพบเด็กป่วยให้หยุดเรียน และทำความสะอาดปรับปรุงสุขาภิบาลของสถานที่ ซึ่งคาดว่าโรคจะระบาดไม่เกิด 4-6 สัปดาห์ ล่าสุดสถานการณ์โรคมือเท้าปากตั้งแต่ 1 มกราคม- 24 กรกฎาคม 2555 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยสะสม 14,452  ราย   

                              

                                                                                               ******************** 24 กรกฎาคม 2554


แหล่งข่าวโดย » สำนักสารนิเทศ 
[กรกฏาคม อังคาร 24,พ.ศ 2555 19:37:51] 
พิมพ์ข่าว

  ลิขสิทธิ์ โดย สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2553 © 2010 |