กรมควบคุมโรคเผยไข้เลือดออกระบาดยอดผู้ป่วยทะลุ1.3หมื่นคน



          กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองและอาจารย์ในโรงเรียนดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดในช่วงเปิดเทอมนี้ หลังพบยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 13,973 ราย เสียชีวิตแล้วจำนวน 17 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ โดยเฉพาะภาคกลางและภาคใต้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เหตุจำนวนผู้ป่วย 2 ภาค นี้ รวมกันเกือบ 10,000 รายแล้ว 


          นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 4 พ.ค. 2553 (ข้อมูลจากรายงานสำนักระบาย วิทยา ณ วันที่ 4 พ.ค.2553) มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวม จำนวน 13,973 รายคิดเป็นอัตราป่วย 22.00 ต่อประชากรแสนคนผู้ป่วยตายจำนวน 17 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.12 เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่าภาคกลาง พบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 6,843 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 31.91 ผู้ป่วยตาย 6 รายรองลงมา คือ ภาคใต้ พบผู้ป่วย 3,142 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 35.65 ผู้ป่วยตาย 6 ราย


          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วย 2,806 รายคิดเป็นอัตราป่วย 13.05 ผู้ป่วยตาย 2 ราย และภาคเหนือ พบผู้ป่วย 1,182 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 10.4 ต่อแสนประชากร ผู้ป่วยตาย 3 ราย ซึ่งต้องเฝ้าระวังภาคกลางและภาคใต้เป็นพิเศา เนื่องจากจำนวนผู้ป่วย 2 ภาคนี้ รวมกันเกือบ 10,000 รายแล้ว และผู้เสียชีวิตรวม 12 ราย ส่วนในช่วงกลางเดือน พ.ค. โรงเรียนเปิดเทอมในเกือบทุกระดับ ซึ่งอาจะเกิดการระบาดในกลุ่มนักเรียนและแนวโน้จำนวนผู้ป่วยจะสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะเป็นช่วงหน้าฝน จึงต้องเร่งดำเนินการป้องกันควบคุมโรค


          เร่งรัดการรณรงค์ใน 3 มาตรการ ดังนี้ 1.จัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้านไม่ให้มีภาชนะที่มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหนะสำคัญของโรคนี้ 2.มาตรการในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย เช่น ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขัง เปลี่ยน้ำในภาชนะที่มีน้ำขัง อาทิ น้ำที่หล่อขาตู้กับข้าว แจกัน กระถางต้นไม้ ทุก 7 วัน และปล่อยปลาในแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เป็นต้นและ 3.มาตรการในการกำจัดยุงลายตัวแก่ เช่น การพ่นยากำจัดยุงตามสถานที่ต่างๆ


          นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนถือว่าเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนและโรงเรียนของตนเอง กิจกรรมที่โรงเรียนสามารถดำเนินงานเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดอกได้ ดังนี้ 1.จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความรู้ความเข้ใจและตระหนักถึงภัยของโรคไข้เลือดออก รู้จักวิธีป้องกันและแนะนำผู้ใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้


          2.ทำให้โรงเรียนปลอดลูกน้ำและยุงลายโดยตรวจสอบและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำยุงลาย ทุกสัปดาห์ 3.นักเรียนและผู้ปกครองต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน หากพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูง มีจุดเลือดออกตามตัว หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเองโดยเฉพาะยาแอสไพรินซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย


แหล่งข่าวโดย » เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ  
[พฤษภาคม ศุกร์ 7,พ.ศ 2553 15:02:56] 
พิมพ์ข่าว

  ลิขสิทธิ์ โดย สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2553 © 2010 |